ระบอบเผด็จการโดยราชวงศ์ ของ คาโรลที่ 2 แห่งโรมาเนีย

กษัตริย์คาโรลที่ 2 แห่งโรมาเนียทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1938 ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1938

โกกาทราบว่าเขาถูกพระมหากษัตริย์หลอกใช้ เขาจึงเข้าพบปะกับคอดรีอานู ผู้เป็นศัตรูในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1938 ที่บ้านของนักการเมืองเอียน กีกูร์ตู เพื่อตกลงกันว่าฝ่ายผู้พิทักษ์เหล็กจะถอนตัวออกจากการเลือกตั้งเพื่อสร้างความมั่นใจว่าฝ่ายต่อต้านยิวหัวรุนแรงจะครองเสียงข้างมากในรัฐสภา[58] กษัตริย์คาโรลทรงทราบถึงแผนการโกกา-คอดรีอานูอย่างรวดเร็ว และพระองค์ทรงใช้เหตุนี้เป็นข้ออ้างในการก่อรัฐประหารตัวเองซึ่งพระองค์ทรงวางแผนมาตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 1937[56] ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1938 กษัตริย์คาโรลทรงระงับรัฐธรรมนูญและยึดอำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉิน[54] กษัตริย์คาโรลทรงประกาศกฎอัยการศึกและระงับสิทธิเสรีภาพทั้งหมดของพลเมืองในช่วงการเลือกตั้งที่รุนแรงนี้ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่สงครามกลางเมือง[59]

เมื่อหมดประโยชน์แล้ว กษัตริย์คาโรลทรงปลดโกกาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และทรงแต่งตั้งพระอัครบิดรเอลี คริสเตอา หรืออัครบิดรมิรอนแห่งโรมาเนียวัย 69 ปี ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาเป็นประมุขแห่งนิกายคริสต์ออร์ทอดอกซ์โรมาเนียและอดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลกษัตริย์มีไฮที่ 1 เขาเป็นบุรุษผู้ที่กษัตริย์คาโรลทรงทราบว่าเป็นบุคคลที่เป็นที่เคารพของประชาชนโรมาเนียทั่วประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเมืองนับถือออร์ทอดอกซ์ ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1938 กษัตริย์คาโรลทรงร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีความคล้ายคลึงกับฉบับก่อนหน้า แต่แท้จริงแล้วมันเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นเผด็จการและเป็นการปกครองแบบหมู่คณะที่รุนแรง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยอมรับพระราชอำนาจฉุกเฉินที่กษัตริย์คาโรลเข้ายึดอำนาจในเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อเปลี่ยนให้รัฐบาลกลายเป็นเผด็จการโดยพฤตินัย มันเป็นการสร้างพระราชอำนาจในพระหัตถ์ของพระองค์อย่างเข้มข้น ซึ่งเกือบจะถึงจุดที่เรียกว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้รับการเห็นชอบผ่านการทำประชามติด้วยเงื่อนไขที่ห่างไกลจากความลับ กล่าวคือ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องมารายงานตัวต่อหน้าสำนักงานการเลือกตั้งและแถลงด้วยวาจาว่าพวกเขาจะเห็นชอบในรัฐธรรมนูญ การที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเงียบจะถือว่าลงคะแนน "เห็นชอบ" ภายใต้เงื่อนไขนี้ มีการรายงานอย่างไม่น่าเชื่อว่า มีประชาชนเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญใหม่ถึงร้อยละ 99.87[60][61]

กษัตริย์คาโรลและพระอัครบิดรเอลี คริสเตอา ซึ่งได้เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงค.ศ. 1938-1939

นิตยสารไทม์ได้บรรยายถึงพระอัครบิดรคริสเตอาว่าเป็น "นายกรัฐมนตรีหุ่นเชิด" ของกษัตริย์คาโรลที่ 2[62] ในการกล่าวสุนทรพจน์เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพระอัครบิดรคริสเตอา เขาประกาศประณามแนวคิดพหุนิยมทางการเมืองของพวกเสรีนิยม และกล่าวว่า "พวกอสูรกายที่มีหัวการเลือกตั้งทั้ง 29 ตัวได้ถูกกำจัดไปแล้ว" (เป็นการพาดพิงถึงพรรคการเมือง 29 พรรคที่ถูกคว่ำบาตร) และอัครบิดรยังอ้างว่าพระมหากษัตริย์จะนำมาซึ่งการช่วยให้พันภัย (Salvation)[63]

ในช่วงการรัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1938 กษัตริย์คาโรลทรงแจ้งต่อเอกอัครรัฐทูตเยอรมัน วิลเฮล์ม ฟาบริเซียส ให้ทราบถึงพระราชประสงค์ที่จะกระชับความสัมพันธ์กับเยอรมนี[64] ทูตแตร์รีของฝรั่งเศสได้ทูลกษัตริย์คาโรลว่า รัฐบาลของพระองค์ได้รับ "การตอบรับที่ดี" จากปารีส และฝรั่งเศสจะไม่ยอมให้จุดจบของระบอบประชาธิปไตยนำมาซึ่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับโรมาเนีย[65] รัฐบาลใหม่ของพระอัครบิดรคริสเตอาไม่ได้ดำเนินนโยบายต่อต้านชาวยิวใหม่ แต่ก็ไม่ได้ยกเลิกกฎหมายต้านยิวเดิมที่มาจากรัฐบาลโกกา แม้ว่าพระอัครบิดรคริสเตอาจะไม่ค่อยบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้มากนัก[65] มีรายงานว่าเมื่อมีสหายชาวยิวถามรัฐมนตรีมหาดไทย อาร์มานด์ คาลีเนสคู ว่า สถานะความเป็นพลเมืองของเขาจะได้รับการฟื้นฟูไหม ในเมื่อโกกาหลุดจากตำแหน่งไปแล้ว คาลีเนสคูเป็นคนที่เกลียดชังผู้พิทักษ์เหล็กและเกลียดแนวคิดต่อต้านยิวก็ยันยันว่ารัฐบาลของคริสเตอาไม่สนใจที่จะคืนสัญชาติให้ชาวยิว[66]

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1938 อาร์มานด์ คาลีเนสคู รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ใกล้ชิดกษัตริย์คาโรลมากที่สุด เขาเป็นเหมือน "คนแข็งแกร่ง" ในระบอบใหม่นี้ ซึ่งต้องการให้กำจัดพวกกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็ก[67] ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1938 กษัตริย์คาโรลทรงหันไปกำจัดกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็ก โดยให้จำคุกคอดรีอานูในข้อหาหมิ่นประมาทอดีตนายกรัฐมนตรี ศาสตราจารย์นิโคไล ออร์กา นักประวัติศาสตร์ หลังจากที่คอดรีอานูตีพิมพ์จดหมายสาธารณะกล่าวหาว่าออร์กาทำธุรกิจที่ทุจริต หลังจากคอดรีอานูถูกตัดสินว่าผิดจริงในวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1938 เขาก็ถูกพิจารณาโทษอีกครั้งในวันที่ 27 พฤษภาคม ในข้อหากบฏ เนื่องจากเขาถูกกล่าวหาว่าทำงานให้เยอรมนีเพื่อเริ่มการปฏิวัติ ค.ศ. 1935 และคอดรีอานูถูกตัดสินจำคุก 10 ปี[67]

กษัตริย์คาโรลทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกพิเศษลำดับที่ 892 แห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์ ใน ค.ศ. 1938 จากพระญาติคือ สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักร ใน ค.ศ. 1937 พระองค์ทรงได้รับกางเขนแห่งความยุติธรรมของกองทัพและฮอสปิทัลเลอร์ เครื่องราชอิสริยาภรณ์นักบุญลาซารัสแห่งเยรูซาเลม วันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1938[68] ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1938 กษัตริย์คาโรลพร้อมกลุ่มคนชนชั้นนำในโรมาเนียต้องตกตะลึงอย่างมากกับความตกลงมิวนิก วันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1938 ที่พระองค์เห็นว่าเป็นการอนุญาตให้ยุโรปตะวันออกทั้งหมดให้อยู่ภายใต้อิทธิพลของเยอรมัน[69] โรมาเนียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความนิยมฝรั่งเศสอย่างมากที่สุดในโลก ดังนั้นความตกลงมิวนิกจึงกระทบประเทศนี้มากเป็นพิเศษ[69] งานของไวน์เบิร์กได้เขียนบรรยายถึงผลกระทบของความตกลงมิวนิกที่มีต่อความสัมพันธ์ฝรั่งเศส-โรมาเนียที่ว่า "ในมุมมองความสัมพันธ์แบบดั้งเดิมจะกลับไปเป็นแบบช่วงจุดเริ่มต้นอิสรภาพของโรมาเนีย ที่ชนชั้นสูงโรมาเนียมองว่าฝรั่งเศสเป็นแบบอย่างสำหรับทุกสิ่งนับตั้งแต่แฟชันไปจนถึงระบอบรัฐบาล การที่ฝรั่งเศสสละอิทธิพลออกไปนั้นเป็นสิ่งที่น่าตกใจอย่างยิ่ง"[69] ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1938 กลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กวางแผนก่อการร้ายในการลอบสังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจและข้าราชการ อีกทั้งวางแผนวางระเบิดตามสถานที่ราชการเพื่อโค่นอำนาจกษัตริย์คาโรล[70][71] กษัตริย์คาโรลทรงโต้กลับอย่างรุนแรงด้วยการสั่งให้ตำรวจเข้าจับกุมกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กโดยไม่ต้องมีหมายจับและให้ประหารชีวิตผู้ที่พบอาวุธอย่างรวดเร็ว

ในด้านของเยอรมนีนั้นต้องการน้ำมันและเยอรมนีส่งคำขอมาซ้ำๆเพื่อให้ทำข้อตกลงการค้าฉบับใหม่ เพื่อต้องการให้เรือบรรทุกน้ำมันของโรมาเนียเข้าเทียบท่าเยอรมนีมากยิ่งขึ้น กษัตริย์คาโรลทรงพบปะกับฟาบริเซียสเพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่าพระองค์ประสงค์ข้อตกลงที่จะสร้างความเข้าใจกันระหว่างเยอรมนีและโรมาเนียในระยะยาว[72] ในขณะเดียวกันช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ค.ศ. 1938 กษัตริย์คาโรลทรงเล่นเกมสองหน้าด้วยทรงมีคำขอความช่วยเหลือไปยังอังกฤษ เพื่อให้นำโรมาเนียเข้าสู่อิทธิพลเศรษฐกิจของอังกฤษ พระองค์เสด็จเยือนลอนดอนในระหว่างวันที่ 15 - 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1938 เพื่อดำเนินการเจรจาซึ่งไม่สำเร็จ[73] วันที่ 24 พฤศจิกายน กษัตริย์คาโรลเสด็จเยือนเยอรมนีและเข้าพบฮิตเลอร์เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์เยอรมนี-โรมาเนีย[74] ในระหว่างการเจรจาข้อตกลงเศรษฐกิจเยอรมนี-โรมาเนียที่จะมีการลงนามในวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1938 ไวน์เบิร์กเขียนว่า "กษัตริย์คาโรลทรงให้การสัมปทานเท่าที่จำเป็น แต่พระองค์ก็ทรงเป็นห่วงต่อเอกราชของประเทศโดยทรงต่อรองราคาอย่างหนัก"[74] นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ดี.ซี. วัตต์ ได้เขียนว่า กษัตริย์คาโรลทรง "ถือไพ่เหนือกว่า" ในการควบคุมน้ำมันที่เยอรมนีต้องการอย่างมากและเยอรมันก็เต็มใจที่จ่ายค่าน้ำมันโรมาเนียในอัตราที่สูงโดยที่กองทัพไม่สามารถมายุ่งเกี่ยวอะไรได้[75] ระหว่างที่ทรงประชุมกับฮิตเลอร์ กษัตริย์คาโรลทรงพิโรธมากที่ฮิตเลอร์เรียกร้องให้ปล่อยตัวคอดรีอานูเป็นอิสระและแต่งตั้งเขาเป็นนายกรัฐมนตรี[76] กษัตริย์คาโรลทรงเชื่อว่าตราบใดที่คอดรีอานูยังมีชีวิตอยู่ เขาก็จะเป็นผู้นำที่ฮิตเลอร์คอยหนุนหลัง แต่ถ้าเขาถูกกำจัดแล้ว ฮิตเลอร์ก็จะไม่มีทางเลือกอื่นๆใดที่จะสนับสนุนเขาเลย[76]

ในช่วงแรกกษัตริย์คาโรลทรงต้องการให้คอดรีอานูติดคุกต่อไป แต่หลังจากเกิดการก่อการร้ายขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1938 กษัตริย์คาโรลทรงเห็นด้วยกับแผนการของรัฐมนตรีคาลีเนสคูที่วางแผนจะสังหารผู้นำกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กทุกคนที่ถูกจองจำอยู่[77] ในกลางดึกของวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1938 กษัตริย์คาโรลทรงมีพระบัญชาให้สังหารคอดรีอานูและผู้นำกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กอีก 13 คน โดยมีแถลงอย่างเป็นทางการว่า นักโทษ "ถูกยิงหลังจากพยายามหลบหนี"[78] การฆาตกรรมในคืนวันที่ 30 พฤศจิกายน ซึ่งผู้นำผู้พิทักษ์เหล็กถูกกวาดล้างออกไปจากประวัติศาสตร์โรมาเนีย ถูกเรียกว่า "ค่ำคืนแห่งแวมไพร์"[76] เยอรมันโกรธเคืองการฆาตกรรมคอดรีอานูอย่างมาก และช่วงปลายปี 1938 มีการรณรงค์โฆษณาชวนเชื่ออย่างรุนแรงต่อต้านกษัตริย์คาโรลในหนังสือพิมพ์เยอรมันที่มีการลงเรื่องราวที่ คอดรีอานู "ถูกยิงขณะหลบหนี" อยู่เสมอ และเรียกการฆาตกรรมคอดรีอานูว่า "เป็นชัยชนะของพวกยิว"[78][79] แต่ในที่สุดความกังวลด้านเศรษฐกิจก็กลับมา เยอรมันต้องการน้ำมันของโรมาเนียอย่างมาก ทำให้นาซียอมเงียบจากเรื่องผู้พิทักษ์เหล็กในช่วงต้นปี 1939 และความสัมพันธ์กับกษัตริย์คาโรลก็กลับมาเป็นปกติดังเดิม[78]

อาร์มานด์ คาลีเนสคู (ตรงกลาง ที่คาดผ้าปิดตา) กับคณะรัฐมนตรี

ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1938 พรรคแนวร่วมเรอเนซองแห่งชาติ ได้ถูกจัดตั้งขึ้นในฐานะพรรคที่ถูกต้องตามกฎหมายพรรคเดียวในประเทศ ในเดือนเดียวกันกษัตริย์คาโรลทรงแต่งตั้งพระสหายของพระองค์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มคามาริลลา คือ กริกอร์ กาเฟนคู ในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศ[80] กาเฟนคูได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศส่วนหนึ่งเป็นเพราะพระองค์ทรงไว้วางพระทัยเขาและอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะมิตรภาพของกาเฟนคูกับโยเซ็ฟ เบ็ค รัฐมนตรีต่างประเทศของโปแลนด์ ซึ่งกษัตริย์คาโรลประสงค์ที่จะผูกสัมพันธ์กับโปแลนด์[80] กาเฟนคูพยายามแสดงความสามารถในช่วงที่ได้โอกาสเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ เป็นผู้ซึ่งต้องการไม่ให้เกิดการปะทะต่อต้านกันมากที่สุด ซึ่งตรงกันข้ามกับอาร์มานด์ คาลีเนสคู รัฐมนตรีมหาดไทยผู้แข็งกร้าว "ดูเหมือนออกนอกลู่นอกทาง" ตัวเล็กและมีตาเดียว (จากนั้นเขาเป็นนายกรัฐมนตรี) ซึ่งประกาศตนเป็นปรปักษ์กับลัทธิฟาสซิสต์ทั้งในโรมาเนียและต่างประเทศและพยายามกระตุ้นให้กษัตริย์คาโรลทรงยืนข้างฝ่ายสัมพันธมิตร[80] นโยบายต่างประเทศของกษัตริย์คาโรลในปี 1939 คือการสร้างพันธมิตรที่เข้มแข็งระหว่างโรมาเนียและโปแลนด์และกลุ่มพันธมิตรบอลข่าน เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับศัตรูโรมาเนียอย่าง ฮังการีและบัลแกเรีย สนับสนุนให้อังกฤษและฝรั่งเศสเข้ามายุ่งเกี่ยวในบอลข่านเพื่อหลีกเลี่ยงการรุกรานจากเยอรมนี[81] ในวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 1939 อัครบิดรคริสเตอา นายกรัฐมนตรีถึงแก่อสัญกรรม คาลีเนสคูจึงขึ้นสืบเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ

ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1939 เกอริงได้ส่งผู้ช่วยคือ เฮลมุท โวลทัท ขององค์การแผนสี่ปีให้มายังบูคาเรสต์ พร้อมคำแนะนำให้ลงนามสนธิสัญญาทางเศรษฐกิจเยอรมนี-โรมาเนียอีกฉบับ ซึ่งจะทำให้เยอรมนีสามารถครอบงำอำนาจทางเศรษฐกิจของโรมาเนีย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมน้ำมัน[82] โวลทัทเป็นบุรุษหมายเลขสองในองค์การแผนสี่ปีถูกส่งไปบูคาเรสต์เพื่อทำการเจรจาเยอรมัน-โรมาเนียที่สำคัญนี้[81] กษัตริย์คาโรลทรงต่อต้านข้อเสนอของเยอรมันที่ต้องการน้ำมันมากขึ้นในข้อตกลงเดือนธันวาคม ค.ศ. 1938 และประสบความสำเร็จในช่วงต้นปี 1939 ที่สามารถนำพาโรมาเนียไปอยู่ในขอบเขตอำนาจทางเศรษฐกิจของอังกฤษได้[80] เพื่อถ่วงดุลอิทธิพลของเยอรมันที่กำลังทรงอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆในคาบสมุทรบอลข่าน กษัตริย์คาโรลจึงต้องการผูกสัมพันธ์กับอังกฤษ[80] ในเวลาเดียวกันแผนสี่ปีกำลังประสบปัญหาความยุ่งยากในช่วงต้นปี 1939 และโดยเฉพาะแผนการของเกอริงที่ต้องการโรงงานสังเคราะห์น้ำมันจากถ่านหินเป็นไปด้วยความล่าช้ากว่าแผน[81] เทคโนโลยีใหม่ในการสังเคราะห์น้ำมันจากถ่านหินทำให้เกิดปัญหาด้านเทคนิคขนานใหญ่และมีค่าใช้จ่ายมากเกินไป เกอริงได้รับแจ้งในต้นปี 1939 ว่า โรงงานน้ำมันสังเคราะห์ที่เริ่มสร้างในปี 1936 จะไม่สามารถเปิดใช้ได้ทันตามแผนในปี 1940 จนกระทั่งถึงฤดูร้อน ค.ศ. 1942 โรงงานน้ำมันสังเคราะห์จึงเริ่มเปิดให้ดำเนินการในที่สุด เห็นได้ชัดว่าเกอริงเจ็บแค้นอย่างมากในช่วงเดือนแรกๆของปี 1939 ที่เศรษฐกิจเยอรมันไม่มีความพร้อมในการก่อสงครามเต็มรูปแบบในปี 1940 เนื่องจากแผนสี่ปีที่ถูกร่างไว้ตั้งแต่ค.ศ. 1936 ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจของเขาบอกเขาว่า เยอรมนีต้องการนำเข้าน้ำมัน 400,000 ตันต่อเดือน แต่เยอรมนีนำเข้าได้เพียง 61,000 ตันต่อเดือนเท่านั้นในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี 1938[81]

ดังนั้นโวลทัทจึงเรียกร้องในระหว่างการเจรจากับกริกอร์ กาเฟนคู รัฐมนตรีต่างประเทศโรมาเนีย ว่าให้โรมาเนียโอนอุตสาหกรรมน้ำมันทั้งหมดของโรมาเนียมาเป็นของรัฐ ซึ่งต่อไปจะถูกควบคุมโดยบริษัทใหม่ที่จะเป็นการร่วมมือระหว่างรัฐบาลเยอรมันกับรัฐบาลโรมาเนีย ขณะที่เรียกร้องให้โรมาเนีย "เคารพผลประโยชน์การส่งออกของเยอรมัน" โดยขายน้ำมันให้กับเยอรมนีเท่านั้น[81] เท่านั้นไม่พอ โวลทัทเรียกร้องให้มีมาตรการอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเปลี่ยนโรมาเนียให้กลายเป็นอาณานิคมทางเศรษฐกิจของเยอรมัน[81] โดยกษัตริย์คาโรลไม่ทรงเห็นชอบในข้อเรียกร้องเหล่านี้ การเจรจาที่บูคาเรสต์จึงเป็นไปไม่ค่อยดีเท่าไร เมื่อถึงจุดนี้ กษัตริย์คาโรลทรงเริ่มดำเนินการในเหตุการณ์ที่จะถูกเรียกว่า "เรื่องอื้อฉาวตีลีอา" เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ค.ศ. 1939 วีโอเรล ตีลีอา เอกอัครราชทูตโรมาเนียประจำอังกฤษ ได้บุกเข้าไปยังห้องทำงานของรัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ลอร์ดฮาลิแฟกซ์ ตีลีอาในสภาพกระวนกระวายใจประกาศว่า ประเทศของเขากำลังเผชิญการรุกรานจากเยอรมันที่กำลังใกล้เข้ามา และขอให้ลอร์ดฮาลิแฟกซ์ช่วยดำเนินการขอการสนับสนุนจากอังกฤษ[83] ในขณะเดียวกัน กษัตริย์คาโรลทรงระดมพลทหารห้าเหล่าบริเวณชายแดนที่ติดกับฮังการีเพื่อป้องกันการรุกรานที่อาจเกิดขึ้น[84] "เศรษฐกิจเชิงรุกราน" ของอังกฤษในคาบสมุทรบอลข่านได้ก่อให้เกิดความบอกช้ำทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริงของเยอรมัน โดยที่อังกฤษทำการซื้อน้ำมันจากโรมาเนีย อันเป็นน้ำมันที่เยอรมันต้องการมาก ดังนั้นพวกเยอรมันจึงต้องการควบคุมอุตสาหกรรมน้ำมันของโรมาเนีย อันเป็นสิ่งที่ทำให้กษัตริย์คาโรลทรงพิโรธ[81] ในขณะที่อังกฤษเชื่อว่า ข้อเรียกร้องของตีลีอา ใน "เรื่องอื้อฉาวตีลีอา" มีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อนโยบายต่างประเทศของอังกฤษ ทำให้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเนวิล เชมเบอร์ลินจะต้องพลิกนโยบายจากการเอาใจเยอรมนีมาเป็นนโยบาย "จำกัด" อำนาจของเยอรมนี[85][86] กษัตริย์คาโรลทรงปฏิเสธ โดยทรงอ้างว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำของตีลีอาในลอนดอน แต่ถึงกระนั้นอังกฤษก็เตือนเยอรมันถึงการกระทำที่คุกคามโรมาเนียในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1939 ทำให้เยอรมันต้องยอมผ่อนปรนข้อเสนอและได้มีการลงนามสนธิสัญญาเศรษฐกิจเยอรมัน-โรมาเนียในวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1939 ซึ่งตามความเห็นของวัตต์ นักประวัติศาสตร์ มองว่า "มีความคลุมเครือมาก"[87] แม้จะมี "เรื่องอื้อฉาวตีลีอา" กษัตริย์คาโรลทรงตัดสินพระทัยที่จะไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการเจรจาทางการทูตใดๆ ที่จะบังคับให้พระองค์เลือกข้างอย่างเด็ดขาดระหว่างเยอรมนีและอังกฤษ และพระองค์จะไม่ทรงยินยอมที่จะรับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตที่พยายามขัดขวางเยอรมนี[87]

นโยบายพยายาม "จำกัด" เยอรมนี เริ่มต้นในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1939 อังกฤษพยายามสร้าง "แนวหน้าสันติภาพ" ที่ประกอบด้วยอย่างน้อยที่สุดก็คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส โปแลนด์ สหภาพโซเวียต ตุรกี โรมาเนีย กรีซ และยูโกสลาเวีย ในส่วนของกษัตริย์คาโรลทรงกังวลในช่วงครึ่งแรกของปี 1939 ว่าฮังการีจะเข้าโจมตีโรมาเนียภายใต้การสนับสนุนของเยอรมนี[88] ในวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1939 มีการประชุมคณะรัฐมนตรีซึ่งมีข้อสรุปว่า โรมาเนียจะไม่เข้าร่วม "แนวหน้าสันติภาพ" แต่จะแสวงหาการสนับสนุนจากอังกฤษ-ฝรั่งเศส ในฐานะที่เป็นประเทศเอกราชแทน[88] ในการประชุมเดียวกัน มีการตัดสินใจว่าโรมาเนียจะกระชับความสัมพันธ์กับประเทศบอลข่านอื่นๆ แต่ก็จะหาหนทางที่จะหลีกเลี่ยงความพยายามของอังกฤษ-ฝรั่งเศสในการเชื่อมโยงความปลอดภัยของบอลข่านเข้าด้วยกับความปลอดภัยของโปแลนด์[89] วันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1939 เนวิล เชมเบอร์ลิน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้อภิปรายในสภาสามัญชนสหราชอาณาจักร และเอดัวร์ ดาลาดีเย นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสก็อภิปรายในรัฐสภาเช่นกัน ในการประกาศการ "รับประกันร่วม" ของอังกฤษ-ฝรั่งเศส ในการรับรองเอกราชของโรมาเนียและกรีซ[90] กษัตริย์คาโรลทรงยอมรับ "การรับประกัน" นี้ในทันที ในวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1939 จอมพลฝรั่งเศส มักซีม เวย์ก็องด์ เดินทางมาเยือนบูคาเรสต์และเข้าเฝ้าฯกษัตริย์คาโรล พร้อมพบปะนายกรัฐมนตรี อาร์มานด์ คาลีเนสคู เพื่อหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะใช้โรมาเนียมีส่วนร่วมใน "แนวหน้าสันติภาพ"[91] ทั้งกษัตริย์คาโรลและคาลีเนสคูให้การสนับสนุน แต่ก็บอกปัด เมื่อมีการบอกว่าจะให้สหภาพโซเวียตเข้ามาต่อสู้กับเยอรมนี ซึ่งทั้งสองไม่ยอมให้สหภาพโซเวียตเข้ามาในดินแดนโรมาเนียแม้ว่าเยอรมนีจะโจมตีก็ตาม[91] กษัตริย์คาโรลทรงบอกเวย์ก็องด์ว่า "เราไม่ต้องการให้ประเทศเข้าไปมีส่วนร่วมในสงคราม ซึ่งไม่กี่สัปดาห์ กองทัพก็จะถูกทำลาย และประเทศก็จะถูกยึดครอง... เราไม่ต้องการที่จะเป็นสายล่อฟ้าอันนำมาซึ่งพายุโหมกระหน่ำ"[92] กษัตริย์คาโรลยังทรงพร่ำบ่นว่า พระองค์ทรงมียุทโธปกรณ์เพียงพอสำหรับกองทัพของพระองค์เพียงสองในสาม ซึ่งยังขาดรถถัง ปืนต่อต้านอากาศยาน ปืนใหญ่หนัก และปืนต่อต้านยานเกราะ ในขณะที่กองทัพอากาศ มีเพียงเครื่องบินโบราณๆ 400 ลำเท่านั้น ซึ่งผลิตในฝรั่งเศส ไม่สามารถเทียบกับฝ่ายเยอรมันได้[92] เวย์ก็องด์รายงานไปยังกรุงปารีสว่า กษัตริย์คาโรงมีพระราชประสงค์ในการสนับสนุนของอังกฤษ-ฝรั่งเศส แต่จะไม่ต่อสู้ร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อสงครามเกิดขึ้น[92]

ในวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1939 ความตกลงสหราชอาณาจักร-โรมาเนีย ได้มีการลงนามโดยอังกฤษสัญญาว่า จะมอบเครดิตแก่รัฐบาลโรมาเนียถึง 5 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง และสัญญาว่าจะซื้อข้าวสาลีโรมาเนีย 200,000 ตัน ในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด[93] เมื่อยูโกสลาเวียทำการตอบโต้เชิงลบต่อปฏิญญาสหราชอาณาจักร-ตุรกีในวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1939 โดยสัญญาว่า "จะสร้างหลักประกันความปลอดภัยในคาบสมุทรบอลข่าน" และยูโกสลาเวียขู่ว่าจะออกจากกติกาสัญญาบอลข่าน กาเฟนคูจึงเข้าร่วมประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศยูโกสลาเวีย อเล็กซานดาร์ ชินการ์-มาร์โกวิช เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 1939 เพื่อขอให้ยูโกสลาเวียยังคงอยู่ในกติกาสัญญาบอลข่านต่อไป[94] แต่การพูดเรื่องที่จะออกจากกติกาสัญญาบอลข่านของชินการ์-มาร์โกวิชนั้น เป็นกลอุบายของ เจ้าชายพอล ผู้สำเร็จราชการแห่งยูโกสลาเวีย ซึ่งกำลังสนับสนุนแผนที่เสนอโดยรัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี ซูครู ซาราโคกลู ที่จะอนุญาตให้บัลแกเรียเข้าร่วมกติกาสัญญาบอลข่าน โดยยอมให้โรมาเนียยกดินแดนโดบรูยาให้บัลแกเรีย[95] เจ้าชายพอลทรงมีลายพระหัตถ์ถึงกษัตริย์คาโรลระบุว่า เจ้าชายพอลทรงต้องการให้พวกบัลแกเรียเลิกค่อนแคะตลบหลังสักที ด้วยทรงเกรงว่าพวกอิตาลีจะสร้างกองกำลังในอาณานิคมใหม่อย่าง แอลเบเนีย และทรงขอให้กษัตริย์คาโรลผู้เป็นสหายให้สัมปทานแก่พระองค์ด้วย[95] กษัตริย์คาโรลทรงตอบลายพระหัตถ์ว่า มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะให้พระองค์ยกดินแดนให้กับบัลแกเรีย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพระองค์ไม่เห็นด้วยในการยกดินแดนอื่นใดให้ผู้อื่น เพราะการยกโดบรูยาให้บัลแกเรีย จะเป็นแรงกระตุ้นให้พวกฮังการีอ้างสิทธิในทรานซิลเวเนียด้วยเช่นกัน[93]

แม้ว่ากษัตริย์คาโรลจะทรงต่อต้านอย่างเป็นทางการต่อ "แนวร่วมสันติภาพ" แต่พระองค์ก้ตัดสินพระทัยที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งของพันธมิตรบอลข่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับตุรกี[96] นับตั้งแต่ที่อังกฤษและฝรั่งเศสพยายามทำงานเพื่อเป้นพันธมิตรกับตุรกี ในขณะเดียวกันก็เจรจากับสหภาพโซเวียตด้วย กษัตริย์คาโรลทรงให้เหตุผลว่า ถ้าโรมาเนียเป็นพันธมิตรกับตุรกีอย่างแนบแน่น เป็นหนทางเดียวที่จะเชื่อมโยงโรมาเนียกับ "แนวร่วมสันติภาพ" ได้โดยไม่ต้องเข้าร่วมจริง[96] แม้ว่ากษัตริย์คาโรลจะทรงผิดหวังในเจ้าชายผู้สำเร็จราชการพอล แต่พระองค์ก็ยังต้องการที่จะรักษาความสัมพันธ์กับยูโกสลาเวีย ในฐานะเพื่อนบ้านที่เป็นมิตรของโรมาเนีย[96] เพื่อต่อต้านการเรียกร้องของบัลแกเรียในดินแดนโดบรูยา กษัตริย์คาโรลยังทรงรักษาความสัมพันธ์กับศัตรูตัวฉกาจของบัลแกเรียนั่นก็คือ กรีซ[96]

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1939 กษัตริย์ทรงเริ่มประทะอย่างรุนแรงกับฟริตซ์ ฟาบริเซียส นักการเมืองโรมาเนีย ผู้นำพรรคนาซีชาติเยอรมันซึ่งเป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุดในหมู่พรรคการเมืองโวล์กด็อยช์ และเข้าร่วมพรรคแนวร่วมเรอเนซองส์แห่งชาติตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ. 1939[97] ฟาบริเชียสเรียกตนเองว่า ฟือเรอร์และจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธสองกลุ่ม คือกลุ่มแรงงานแห่งชาติและกลุ่มยุวชนเยอรมัน อีกทั้งจัดพิธีการที่มีชนกลุ่มน้อยเยอรมันในโรมาเนียเข้าร่วมถึง 800,000 คน ซึ่งดำเนินการแสดงความจงรักภักดีต่อเขา[97] ในต้นเดือนกรกฎาคม ฟาบริเชียสได้ไปเยือนมิวนิกและได้กล่าวสุนทรพจน์ว่า กลุ่มโวล์กด็อยช์โรมาเนีย มีความจงรักภักดีต่อเยอรมนี ไม่ใช่โรมาเนีย และเขากล่าวว่าปรารถนาจะเห็น "จักรวรรดิไรซ์เยอรมันอันยิ่งใหญ่" ซึ่งจะมีกลุ่มชาวชนบทติดอาวุธตั้งถิ่นฐานไปทั่วเทือกเขาคาร์เปเทียน อูรัลและคอเคซัส[97] ใน "Grossraum" นี้ (เป็นคำภาษาเยอรมันที่แปลความหมายไม่ได้ มีความหมายหยาบๆว่า "พื้นที่กว้างใหญ่") มีเพียงชาวเยอรมันเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัย และผู้ที่ไม่เต็มใจที่จะเป็นชาวเยอรมันจะต้องออกไป[97] หลังจากฟาบริเชียสพูดสุนทรพจน์นี้ เมื่อเขากลับโรมาเนีย เขาถูกเรียกตัวไปพบนายกรัฐมนตรีคาลีเนสคูในวันที่ 13 กรกฎาคม นายกรัฐมนตรีบอกเขาว่า กษัตริย์ทรงอดทนเพียงพอแล้วและจะทรงดำเนินการจัดการเขา[97] ฟาบริเชียสสัญญาว่าจะทำตัวให้ดีขึ้น แต่เขาก็ถูกขับไล่จากโรมาเนียหลังจากวันนั้นไม่นาน เมื่อพบว่าหนึ่งในผู้ติดตามของเขาออกจากรถไฟโดยที่ในกระเป๋าเอกสารเต็มไปด้วยหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ผู้สนับสนุนฟาบริเชียสมีอาวุธเป็นของตนเอง และฟือเรอร์ฟาบริเชียสได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากเยอรมนี[97]

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1939 กษัตริย์คาโรลทรงได้รับข่าวลือว่า ฮังการีได้รับการสนับสนุนจากเยอรมนีให้วางแผนเข้ารุกรานโรมาเนีย ทำให้เกิดวิกฤตครั้งใหม่ของความสัมพันธ์โรมาเนีย-ฮังการี ซึ่งเกิดจากการร้องเรียนจากบูดาเปสต์ที่ร้องเรียนว่าชาวโรมาเนียกำลังทารุณกรรมชาวแม็กยาร์ในทรานซิลเวเนีย (การร้องเรียนนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเบอร์ลิน) กษัตริย์คาโรลจึงทรงมีพระบรมราชโองการระดมพลทหารในขณะที่ทรงกำลังขึ้นเรือยอรพระที่นั่งไปยังอิสตันบูล[98] ในช่วงระหว่างเสด็จเยือนอิสตันบูล กษัตริย์คาโรลทรงมีพระราชปฏิสันถารกับอิสเมท อีเนอนือ ประธานาธิบดีตุรกี และซึกครือ ซาราโกกลู รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี ซึ่งทางตุรกีสัญญาว่าจะระดมพลทหารทันทีถ้าฝ่ายอักษะรุกรานโรมาเนีย[98] ตุรกีบีบคั้นให้กษัตริย์คาโรลทรงลงพระนามเป็นพันธมิตรกับสหภาพโซเวียต อันเป็นสิ่งที่พระองค์ไม่เต็มพระทัยนัก พระองค์ยอมดำเนินการเช่นนั้น เพราะตุรกีจะเป็นคนกลางในการประสานความร่วมมือ และทรงยินยอมถ้าหากสหภาพโซเวียตยอมรับแนวพรมแดนของโรมาเนีย[98] การที่โรมาเนียแก้ปัญหาด้วยการได้รับการสนับสนุนจากตุรกีนั้นส่งผลให้พวกฮังการียอมถอนความตั้งใจที่จะรุกรานโรมาเนีย[98]

ข่าวกติกาสัญญาโมโลตอฟ–ริบเบินทร็อพในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1939 สร้างความหวาดหวั่นแก่กษัตริย์คาโรลมาก[99] ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1939 กษัตริย์คาโรลทรงเล่นเกมการเมืองให้สองฝ่ายเข้าสู้กัน พระองค์ทรงอนุญาตให้นายกรัฐมนตรีคาลีเนสคูบอกทูตแตร์รีของฝรั่งเศสว่า ชาวโรมาเนียจะทำลายบ่อน้ำมันถ้าฝ่ายอักษะเข้ารุกราน ในขณะเดียวกันรัฐมนตรีต่างประเทศ กาเฟนคู ได้บอกแก่โยอาคิม ฟ็อน ริบเบินทร็อพ รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมัน ว่า เขายืนยันมิตรภาพระหว่างโรมาเนียกับเยอรมนี รวมถึงการแสดงจุดยืนต่อต้าน "แนวหน้าสันติภาพ" และมีความตั้งใจที่จะขายน้ำมันให้เยอรมันมากขึ้น[100] หลังจากการลงนามในกติกาสัญญา คาลีเนสคูทูลแนะนำกษัตริย์คาโรลว่า "เยอรมนีเป็นอันตรายอย่างแท้จริง การเป็นพันธมิตรมันเท่ากับว่าเป็นรัฐในอารักขาของเยอรมัน มีแต่เพียงให้เยอรมนีถูกกำจัดโดยอังกฤษและฝรั่งเศสเท่านั้นถึงจะสามารถป้องกันจากอันตรายได้"[66] วันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1939 กาเฟนคูบอกฟาบริเชียสว่า โรมาเนียจะประกาศตนเป็นกลางถ้าเยอรมนีรุกรานโปแลนด์ และต้องการจะขายน้ำมันให้เยอรมัน 450,000 ตันต่อเดือน เพื่อแลกกับเงิน 1.5 ล้านไรซ์มาร์ก รวมถึงอากาศยานเยอรมันสมัยใหม่จำนวนหนึ่งฟรีๆ[100] กษัตริย์คาโรลทรงพบปะกับกองทัพอากาศเยอรมันในวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ. 1939 เพื่อแสดงความยินดีร่วมกับเยอรมันในความสำเร็จทางการทูตที่ยิ่งใหญ่ที่พวกเขาได้รับจากการทำสัญญากับสหภาพโซเวียต[100] กษัตริย์คาโรลไม่ทรงทราบว่ากติกาสัญญาโมโลตอฟ–ริบเบินทร็อพ มี "สนธิสัญญาลับ" ที่ยอมรับให้ดินแดนของโรมาเนียคือ เบสซาราเบีย ให้ตกเป็นของสหภาพโซเวียต ในระยะสั้นสนธิสัญญาเยอรมัน-โซเวียตนั้นเป็นประโยชน์แก่กษัตริย์คาโรล เพราะในตอนนี้เยอรมันได้ซื้อน้ำมันของสหภาพโซเวียต ทำให้ช่วยลดแรงกดดันของน้ำมันโรมาเนียได้

แหล่งที่มา

WikiPedia: คาโรลที่ 2 แห่งโรมาเนีย http://www.sudd.ch/event.php?lang=en&id=ro011938 http://www.historytoday.com/richard-cavendish/deat... http://www.itv.com/presscentre/ep10week14/mr-selfr... http://www.time.com/time/magazine/article/0,9171,8... http://www.cs.kent.edu/~amarcus/Mihai/english/caro... http://www.law.nyu.edu/eecr/vol7num2/feature/ruler... http://pages.prodigy.net/ptheroff/gotha/greece.htm... http://pages.prodigy.net/ptheroff/gotha/romania.ht... http://www.tkinter.smig.net/Romania/References/Car... http://ziua.net/display.php?data=2007-11-29&id=230...